แนะนำยาใหม่ 2 ชนิด รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากองค์การอนามัยโลก

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานเมื่อวันที่ 14 มกราคมระบุว่า คณะทำงานของ องค์การอนามัยโลก (WHO) ออกคำแนะนำให้ใช้ยาใหม่สองชนิดในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 แล้ว ของสองบริษัทคือ
– บริษัท อีไล ลิลลี (Eli Lilly)
– บริษัทแกล็กโซสมิธไคลน์ (GlaxoSmithKline) หรือ จีเอสเค

นับเป็นทางเลือกในการรักษาที่เพิ่มเติมขึ้นในขณะที่เชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไม่ตอบสนองกับการรักษาบางชนิด

คณะทำงานของ WHO เปิดเผยเมื่อวันที่ 13 มกราคมว่า แนะนำอย่างยิ่งให้ใช้ยาที่ขายภายใต้ชื่อทางการค้า “โอลูเมียนต์” (Olumiant) ของบริษัทอีไล ลิลลี ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนักร่วมกันกับยาต้านอักเสบคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids)

นอกจากนี้ยังแนะนำให้ใช้การ “บำบัดภูมิคุ้มกัน” ของบริษัทแกล็กโซสมิธไคลน์ “อย่างมีเงื่อนไข” สำหรับคนไข้ที่อาการไม่รุนแรงแต่มีความเสี่ยงสูงที่จะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล

โดยวิธีการบำบัดภูมิคุ้มกันของจีเอสเค เป็นการบำบัดภูมิคุ้มกันวิธีเดี่ยวที่พบว่ามีประสิทธิภาพกับเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน ในห้องทดลอง เมื่อเทียบกับการบำบัดแบบเดียวกันของบริษัทยาอื่นๆ อย่างไรก็ตาม องค์การอานมัยโลก ระบุว่า ประสิทธิภาพของการรักษาดังกล่าวยังคงไม่แน่นอน และว่ากรอบการใช้ยาจะมีการปรับปรุงอีกครั้งเมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม

ทั้งนี้กรอบการใช้ยาที่ตีพิมพ์ในวารสารบริติชเมดิคอล นั้นระบุไว้ด้วยว่าพบหลักฐานว่าโอลูเมียนต์ ของบริษัทอีไล ลิลลี นั้นเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและลดความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจลงได้ และไม่พบผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์

“ยาต้านโควิด-19” ที่ใช้อยู่ในประเทศไทย

“ยาฟาวิพิราเวียร์” (Favipiravir)
ยาที่ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง คือกลุ่มที่เริ่มมีความเสี่ยงของโรครุนแรง จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ มีทั้งรูปแบบที่เป็นเม็ดและเป็นน้ำ จะจ่ายให้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เป็นยาที่ต้องกินภายใต้การควบคุมของแพทย์เท่านั้น

“ฟ้าทะลายโจร”
ยาฟ้าทะลายโจร ยาที่ใช้รักษาในกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย โดยเมื่อเข้าสู่ระบบ Home Isolation หรือ Hospitel จะได้รับยาเพื่อรักษาอาการเบื้องต้น

อย่างไรก็ตาม ยาฟ้าทะลายโจร ไม่สามารถป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ แต่ช่วยบรรเทาอาการที่ไม่รุนแรง ใช่ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดโรครุนแรง เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก ลดโอกาสที่โรคจะลุกลามลงปอด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีน และปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด

“ยาโมลนูพิราเวียร์”
ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสชนิดรับประทานมีลักษณะเป็นยาเม็ด โดยผลวิจัยของยาโมลนูพิราเวียร์ ข้อมูลจากการทดลองระยะที่ 3 ซึ่งทดลองในอาสาสมัครกลุ่มผู้ใหญ่จำนวน 775 คน ที่ป่วยด้วยโรค COVID-19 ซึ่งแสดงอาการตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงอาการปานกลาง ทั้งยังเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น มีภาวะอ้วน เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือเป็นผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป

สำหรับแนวทางการจะใช้ยานี้ในประเทศไทย ขณะนี้ยังไม่มียาโมลนูพิราเวียร์ออกมาใช้ เว้นในการศึกษาวิจัยเท่านั้น และถ้ามีการขึ้นทะเบียน ก็จะเป็นการใช้แบบฉุกเฉิน

“ยาแอนติบอดี ค็อกเทล”
“ยาแอนติบอดี ค็อกเทล” (Antibody Cocktail) หรือ “ยาภูมิคุ้มกันลบล้างฤทธิ์” ในการรักษาดูแลผู้ป่วยโควิด ลดเสียชีวิต70% โดย “ยาแอนติบอดี ค็อกเทล” ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อ.ย.)ให้ใช้เพื่อการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบมีเงื่อนไขภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินได้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.2564 โดยยาแอนติบอดี ค็อกเทลเข้าไทยมาตั้งแต่วันที่ 30ก.ค.2564 เริ่มใช้ที่สถาบันบำราศนราดูรแห่งแรก ต่อมาทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดหายาโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody) มาใช้เพื่อรักษาดูแลผู้ป่วยโควิด-19

“ยาเรมเดซิเวียร์”
ใช้รักษาผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยจะได้รับยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) ซึ่งเป็นยาที่ใช้กันมากในต่างประเทศได้แก่ สหรัฐอเมริกา และอินเดีย เป็นยาฉีด กลุ่มผู้ป่วยที่จะได้รับยาเรมเดซิเวียร์ จะเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีแดง ที่มีอาการหนัก ไม่รู้สึกตัว กินยาไม่ได้ ผู้ที่มีระบบดูดซึมไม่ดี