ฟ้าทะลายโจรปลอม 6 ยี่ห้อ ห้ามซื้อใช้โดยเด็ดขาด

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจพบมีผู้ฉวยโอกาสนำผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรผิดกฎหมายมาหลอกขายให้ประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ มีทั้งที่ไม่ได้ขออนุญาตกับ อย. เป็นผลิตภัณฑ์ปลอมที่สวมเลข อย. ของผลิตภัณฑ์อื่น หรืออ้างว่ามีฟ้าทะลายโจร แต่ตอนได้รับอนุญาตไม่มีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบแต่อย่างใด หรือใช้วัตถุดิบอื่นแทน จึงขอเตือนให้ประชาชนอย่าซื้อผลิตภัณฑ์ ดังนี้

1. ฟ้าทะลายโจร ตราโนนทรี
ระบุทะเบียนเลขที่ TAS-PR : 104 ซึ่งเป็นเลขที่รหัสรับรองการแปรรูปผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ไม่ใช่เลขทะเบียนตำรับสมุนไพร

2. ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร ตราอินทารา
ฉลากระบุเลข อย. 63-1-17262-5-0005 และโฆษณาสรรพคุณเสริมภูมิคุ้มกันโรค ป้องกันไม่ให้ติดไวรัสในกลุ่มทางเดินหายใจ และช่วยป้องกันไวรัสโควิด-19 ตรวจสอบแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในชื่อ อินทรา-015 (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ไม่มีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบแต่อย่างใด

3. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วีโอดี เฮิร์บ พลัส สารสกัดจาก ฟ้าทะลายโจร
ฉลากระบุเลข อย. 10-1-15662-5-0019 ตรวจสอบแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งไม่มีสารสกัดจากฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบ

4. ผลิตภัณฑ์ ฟ้า fA Andrographis Paniculata Cordata 600 mg
ฉลากระบุเลข อย. 13-1-27660-5-0029 ส่วนประกอบระบุว่ามี Andrographis paniculata 400 mg ฟ้าทะลายโจร 60% ตรวจสอบแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในชื่อ ฟ้า (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร) ซึ่งไม่มีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบ

5. ยาแคปซูลฟ้าทะลายโจรสกัด (ANDROGRAPHIS EXTRACT CAPSULES)
ฉลากระบุทะเบียนเลขที่ G1/61 (พจ) และระบุชื่อผู้จำหน่าย สี่พระยาโอสถ วัดโพธิ์ แขวงพระราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ไม่ระบุชื่อผู้ผลิต ตรวจสอบแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสวมเลขทะเบียนตำรับสมุนไพรของห้างหุ้นส่วนจำกัด เจ้าพระยาโอสถ ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดพิจิตร

6. ฟ้าทะลายโจร ฉลากระบุทะเบียนเลขที่ G255/63
ตรวจสอบแล้วพบว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสวมเลขทะเบียนตำรับของผลิตภัณฑ์สมุนไพร โรงงานแม่คำป้อโอสถ อ.เชียงดาว จ. เชียงใหม่ และใช้บอระเพ็ดซึ่งมีรสขมคล้ายฟ้าทะลายโจรบรรจุลงในแคปซูล หลอกขายเป็นฟ้าทะลายโจร

ฟ้าทะลายโจรปลอม

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม กล่าวย้ำว่า ขอให้ประชาชนอย่าซื้อผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรข้างต้นมาใช้โดยเด็ดขาด เพราะเสี่ยงได้รับอันตรายจากสถานที่ผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพและประสิทธิผล ซึ่ง อย. จะประกาศรายชื่อผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายหลอกลวงประชาชนเช่นนี้เป็นระยะ ๆ

ทั้งนี้ ผู้ปลอมแปลง ความผิดตามพระราชบัญญัติสมุนไพร พ.ศ. 2562 ฐาน “ผลิตสมุนไพรปลอม” มีอัตราโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท, ฐาน “ ผลิตหรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม” มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท